สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 76 ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย

 

วรรคสอง ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล  บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งที่ได้เห็นชอบให้กระทำการนั้นหรือได้เป็นผู้กระการทำดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2558 กองทัพบกเป็นส่วนราชการ สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 มาตรา 8 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ กระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดไปถึงกิจการในกองทัพบก สิบเอก ต. เป็นทหารสังกัดกองทัพบก จึงถือว่าเป็นทหารในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยด้วย เมื่อสิบเอก ต. ขับรถบรรทุกน้ำคันเกิดเหตุตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งทั้งกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจำเลยต่างเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทั้งกองทัพบกซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรง และฟ้องกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นต้นสังกัดในลำดับสูงขึ้นไปได้ด้วย การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องกระทรวงกลาโหมให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่สิบเอก ต. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของจำเลยผู้กระทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2556 กรณีโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งโจทก์ให้การปฏิเสธ เมื่อคดีถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดต่อผู้เสียหายและโจทก์วางเงินชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์วางเงินดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9

ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย แต่ก็เป็นความรับผิดในฐานะนิติบุคคลเพื่อเยียวยาแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วจึงให้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิไล่เบี้ยได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่มีผลใช้บังคับก่อนเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องบังคับตาม มาตรา 8 วรรคสี่ ที่มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสามผู้ทำละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสามแต่ละคนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4266/2550 ค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้อง มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้น โดยให้การปฏิเสธความรับผิด จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่ อ. ไปในคดีก่อนนั้น เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์